
See. Think. Write.
ABOUT CULTURE AND SOCIETY

The Theory of everything
หนึ่งเดียวที่อธิบายทุกสิ่ง (เกี่ยวกับความรัก)
ความรักแท้จริงเป็นอย่างไร หนังเรื่องนี้เสนอทฤษฎีที่พอจะเป็นคำตอบ
คำตอบที่จริงซะจนรู้สึกเหมือนถูกตบหน้าให้ตื่นด้วยมือของคนรัก...นุ่มนวล แต่มีน้ำหนัก และก็เจ็บ...
อธิบายก่อนว่า หนังเรื่องนี้สร้างจากชีวิตจริงของ Stephen Hawking อัจฉริยะด้านฟิสิกส์และจักรวาลวิทยา เอาเป็นว่าเก่งและดังระดับ นิวตัน หรือไอน์สไตน์แล้วกัน แค่ยังมีชีวิตอยู่ แต่เป็นโรค ALS คือกล้ามเนื้ออ่อนแรงตั้งแต่อายุ 20 แล้วก็ค่อยๆ ร้ายแรงขึ้นจนพูดไม่ได้ ขยับได้แต่นิ้ว สตีเฟ่นใช้ความพยายามจนเขียนหนังสือเรื่อง A Brief History of Time กับ The Universe in a Nutshell ได้สำเร็จจนเป็น Best Sellers แถมยังเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ด้วย
คิดดูว่าผู้ชายคนหนึ่งซึ่งเป็นโรคนี้มาตั้งแต่หนุ่มๆ ต้องต่อสู้มากมายขนาดไหนกว่าจะประสบความสำเร็จระดับโลก และหากมีผู้หญิงคนหนึ่งเป็นเบื้องหลัง ดูแลเขาตั้งแต่เริ่มเป็นโรคนี้ใหม่ๆ เธอจะต้องใช้ความพยายามขนาดไหนกันที่จะผลักดันเขาไปสู่ความสำเร็จ...
ความรักระหว่างเจนและสตีเฟ่นต้องยิ่งใหญ่ งดงาม ทรงพลังมากแน่ๆ...
(คำเตือน: ต่อไปนี้สปอยล์หนักมาก ไปหาดูด่วนนะเธอว์)
ถึงหนังจะเล่าเรื่องช่วงอินเลิฟของคนสองคนแค่แป๊บเดียว แล้วตัดเข้าช่วงที่สตีเฟ่น รู้ตัวว่าเป็นโรค ALS แบบเร็วมาก แต่พอถึงฉากที่สตีเฟ่นพยายามเล่นฮอกกี้ตามที่รับปากกับเจนไว้ ทั้งที่ขาของเขาแทบจะยืนไม่อยู่แล้ว เราก็น้ำตาไหลพรากๆ (อินจัด) ยิ่งตอนที่เจนยืนยันว่าจะแต่งงานกับสตีเฟ่นทั้งที่รู้ว่าเขาจะดูแลตัวเองไม่ได้ และจะอยู่ได้อีกไม่กี่ปี เราก็ยิ่งปักใจเชื่อว่า นี่แหละ ความรัก รักเป็นพลังของทุกอย่าง รักคือการเสียสละ และทำทุกอย่างเพื่ออยู่ด้วยกันตลอดไป รักที่แท้เป็นอย่างนี้! (น้ำตาไหลพรากๆ อีกครั้ง)
ถ้าข้อสรุปเป็นอย่างนั้นจริง หนังก็คงใกล้จะจบแล้วล่ะ แต่บังเอิญว่าเพิ่งเริ่มไปไม่ถึงครึ่งเรื่อง...
เจนรักสตีเฟน สตีเฟ่นเองก็เป็นคนน่ารัก ในช่วงแรกๆ ทั้งสองต่างเติมเต็มกันและกัน ทุกอย่างดำเนินมาอย่างราบรื่นน่าซึ้งใจ แม้อาการของสตีเฟ่นจะทรุดลง แต่งานของสตีเฟ่นยังไปได้สวย พวกเขามีลูกที่น่ารัก 2 คน ครอบครัวดูอบอุ่นและมีความสุข หนังบอกเราว่า ความสำเร็จส่วนหนึ่งของสตีเฟ่น มาจากการสนับสนุนของภรรยาของเขาจริงๆ ถ้าไม่มีเจน สตีเฟ่นอาจยอมแพ้ให้โรคนี้เอาชีวิตเขาไปตั้งแต่ 2 ปีแรก หรือไม่ก็คงไม่มีแรงพอที่จะเสนอทฤษฏี Hawking Radiation เขย่าวงการแน่ๆ
ภายนอกคือความรักอันสวยงามเปี่ยมด้วยพลัง แต่ในความจริงคือเจนต้องรับภาระดูแลลูกทั้งสองคน และดูแลสามีที่อาการมีแต่ทรงกับทรุดจนไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น
เราเคยอ่านนิยายเรื่องหนึ่ง มีตัวละครหญิงพูดว่า “ความรัก จะไม่ทำให้รู้สึกว่าเสียสละ แต่เป็นความรู้สึกที่เต็มใจ” เราเคยเชื่อว่าความรักที่แท้เป็นอย่างนั้น แต่พอโตขึ้นความคิดก็เปลี่ยนไป เริ่มเห็นว่าเป็นประโยคที่ยัดใส่ปากผู้หญิงให้ผู้หญิงเสียสละชีวิตอิสระมาเป็นแม่บ้านมากกว่า
ในตอนแรก เจนก็คงจะคิดแบบตัวละครหญิงคนนั้นแหละ แต่ว่าเจนเป็นผู้หญิงเก่งและมีเป้าหมายชัดเจน เมื่อเวลาผ่านไป เจนก็คงระลึกได้ว่าตัวเองก็มีความฝัน มีความมุ่งหมายในชีวิตเหมือนกัน แต่ชีวิตที่เธอเลือกไม่สามารถตอบสนองเธอได้แน่นอน ความรักของสตีเฟ่นไม่อาจเติมเต็มความต้องการความสำเร็จของเธอได้ นี่คือความจริง


23 Feb 2015
ทั้งที่ยังรักและผูกพัน ทั้งที่ไม่อยากเลือก แต่ก็ถูกบีบให้เลือก
การที่เจนเปิดใจให้โจนาธานนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ก็ใครล่ะจะไม่รู้สึกดีที่มีคนมาดูแล แถมยังเข้ากับลูกๆ ของเธอได้ดีอีก เธอรู้ดีว่าหากเป็นโจนาธาน เรื่องเรียนต่อให้ถึงปริญญาเอกอย่างที่ฝัน ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
หนังไม่ตัดสินเจน คนดูที่ไม่พอใจเจนก็คงจะมี แต่เรากลับเข้าใจว่าเจนไม่ได้อยากจะเลิกรักสตีเฟ่นเลย แต่เพราะเหตุปัจจัยมันเสริมส่งซะจน...ต่อให้รักแค่ไหน ก็ไปด้วยกันไม่ได้ เพราะในเรื่องของความรัก ไม่ควรจะมีใครที่ต้องเสียสละอยู่ฝ่ายเดียว ชีวิตของเจนก็เช่นกัน
“รักคือการเสียสละ” ก็อาจจะจริง แต่ไม่ใช่หลักประกันว่าคนสองคนจะอยู่ด้วยกันตลอดไป
ดูเหมือนสตีเฟ่นเองก็มองทุกอย่างออก สำหรับเขาคงทำใจลำบากอยู่เหมือนกันที่จะต้องอยู่คนเดียว แต่เขาคงจะคิดมานานแล้วว่าควรจะปล่อยให้คนรักได้มีชีวิตของตัวเองบ้าง
พูดมานี่เหมือนเชียร์ให้เจนไปคบกับโจนาธาน จริงๆ ก็ไม่นะ พอถึงเวลาที่สตีเฟ่นปล่อยเจนจริงๆ เราถึงกับ #ร้องไห้หนักมาก ยิ่งฉากที่เจนพูดว่า “I’ve loved you. I did my best” นี่อย่างกะเปิดก๊อก น้ำตาไหลพรากๆ ถึงเจนจะมีเผลอใจไปบ้าง แต่เธอรักสตีเฟ่นจริงๆ ส่วนสตีเฟ่นนั้น ไม่ต้องสงสัย แต่เพราะอะไรๆ ก็บีบให้ทั้งสองต้องเลือกให้เดินมาทางนี้ สตีเฟ่นป่วยจนต้องกลายเป็นภาระของเจน > เจนอยากมีเวลาทำงานของ ตัวเอง > จ้างพยาบาลมาดูแล > พยาบาลพบรักกับสตีเฟ่น > เจนเลือกกลับไปหาโจนาธานที่เธอตัดใจไปก่อนหน้านี้
ความรักที่สวยงามและทรงพลัง เดินมาถึงจุดนี้ได้ยังไงกัน
ดูจบแล้วเราก็คิดสรุปกับตัวเองว่า “ดังนั้นความรักจะเป็นการเสียสละฝ่ายเดียวไม่ได้” จะได้ไม่มีใครต้องมาลำบากใจเหมือนเจนไง...ก็แค่นั้นเอง เราควบคุมมันได้นี่ แต่เดี๋ยวก่อน...ถ้าวันหนึ่งเราหรือเขาเป็นโรคอย่างสตีเฟ่นล่ะ…ไม่ใครก็ใครที่ต้องเสียสละใช่ไหม ... เราควบคุมความรักได้ จริงหรือ...
สุดท้ายแล้ว ทฤษฎีที่หนังเรื่องนี้เสนอเราคือ
ความรักเป็นพลังของทุกอย่าง ความรักอาจเป็นการเสียสละ แต่การเสียสละไม่อาจการันตีตอนจบอย่าง “แล้วทั้งสองก็ครองรักกันตลอดไป”
ไม่มีอะไรการันตีตอนจบได้เลย

ขอบคุณรูปภาพจาก wikipedia, focusfeaturesmedia, hollywoodreporter